หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

ไหว้พระ 9 วัด

เที่ยวกรุงเทพมหานคร

รวบรวมโดย สุนีย์
ประวัติ


กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง พื้นที่เมืองขนาดใหญ่ที่สุดสุดและเป็นเมืองหลักที่มีประชากร
มากที่สุดของประเทศไทย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญก้าวหน้าด้านอื่น ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกอีกด้วย มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้แบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร
กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย โดยมิได้มีสถานะเป็นจังหวัด ซึ่งคำว่า กรุงเทพมหานคร นั้น ยังใช้เป็นคำเรียกสำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครใช้วิธีการเลือกตั้งผู้บริหารแบบการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
ใน พ.ศ. 2552 กรุงเทพมหานครเป็นเมืองค่าครองชีพสูงสุดอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์
กรุงเทพมหานครมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวิมานเมฆและวัดต่าง ๆ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศประมาณ 11 ล้านคนในแต่ละปี นับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดรองจากปารีสและลอนดอน
ในสมัยอาณาจักรอยุธยา บางกอก (กรุงเทพมหานคร) เป็นสถานีการค้าขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อว่า กรุงธนบุรี และในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ได้ชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์

ไหว้พระ 9 วัด เสริมสิริมงคล กรุงเทพมหานคร
ไหว้พระเก้าวัด เสริมสิริมงคล
การเริ่มต้นที่ดี คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ ททท.ขอเชิญท่านมาทำบุญและบริจาคทานตามศาสนสถาน หรือสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ชำระจิตใจให้ผ่องแผ้ว ตามคติความเชื่อแบบไทย ๆ กัน


1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) คติ แก้วแหวนเงินทาง ไหลมาเทมา
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ที่พระระเบียงมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่วิจิตรงดงามมาก นอกจากนี้ยังมี ปราสาทพระเทพบิดร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 1-8 พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หอพระราชพงศานุสรณ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำรัชกาล ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ทรงคุณค่าที่น่าสนใจอีกมาก
การเดินทางไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
สถานที่ตั้ง บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 1, 3, 25, 32, 33, 59, 60, 70, 82, 91, 201, 203, ปอ. 2, 3, 6, 25, 32, 59, 60, 70, 82, 201, 203, 512
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)คติ ร่มเย็นเป็นสุข
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อวัดโพธาราม รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็น มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน มีการรวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลา ติดไว้บริเวณพระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถมี พระพุทธเทวปฏิมากร และมีพระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่สวยงามที่สุด ปัจจุบันวัดโพธิ์เปิดอบรมเผยแพร่วิชาแพทย์แผนโบราณ โดยผู้ผ่านการอบรม จะได้รับใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข
การเดินทางไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
สถานที่ตั้ง ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 82, 91, ปอ. 32, 44, 91
3. วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร คติ พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต
เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อ "วัดใหม่" กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพในรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวช ได้เสด็จมาประทับและทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดแห่งนี้  ภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่ง และประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เช่น พระสุวรรณเขต พระพุทธชินสีห์ พระนิรันตราย และพระพุทธนินนาท
การเดินทางไปยังวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร 
สถานที่ตั้ง ถนนพระสุเมรุ ย่านบางลำพู เขตพระนคร
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 3,9,64,65,53,56,68
หมายเหตุ :  เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางไปไหว้พระเก้าวัด คือเวลา 09.00 – 16.00 น. ของทุกวัน ควรแต่งกายสุภาพ และเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ควรไปด้วยรถประจำทาง หรือบริการขนส่งสาธารณะ เนื่องจากสถานที่จอดรถมีจำนวนจำกัด

4. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร คติ  เสริมสร้างความคิดอันเป็นสิริมงคล
ตั้งอยู่ที่ปากคลองมหานาค เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดสะแก" รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่แล้วพระราชทานนามว่า "วัดสระเกศ" มีพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงดัดแปลงจากพระปรางค์ที่ทรุดพังลง โดยแปลงเป็นภูเขาและก่อเจดีย์ไว้บนยอด ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
การเดินทางไปยังวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
สถานที่ตั้ง ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 8, 15 ,37, 47, 49
เรือโดยสาร เรือล่องคลองแสนแสบ ลงที่ท่าผ่านฟ้าลีลาศ
5. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) คติ ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดมะกอก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 ภายในวัดมีพระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พระอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง
การเดินทางไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
สถานที่ตั้ง ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 19, 57
เรือโดยสารข้ามฟากจากท่าเตียน ขึ้นที่ท่าวัดอรุณฯ
6. วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร คติ ไหว้พระวัดสุทัศน์ฯ วิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป
วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 เดิมชื่อ วัดมหาสุทธาวาส ภายในพระวิหารมี พระศรีศากยมุนี ซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา ส่วนที่พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ ปางมารวิชัย และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง อันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกด้วย
การเดินทางไปยังวัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร
สถานที่ตั้ง บริเวณเสาชิงช้า ตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร
การเดินทาง โดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 42 ปอ. 42
7.วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร คติ มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ มีพระพุทธรูปปั้งลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย พระนามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดมบรมศาสดา อนาวรญาณ
การเดินทางไปยังวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร สถานที่ตั้ง ถนนจักรพงษ์ แขวงบางลำพู เขตพระนคร
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 33, 64, 65, ปอ. 32, 64, 65

8. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร คติ มีคนนิยมชมชื่น
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือวัดระฆัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ สร้างตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระประธานยิ้มรับฟ้า เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อไปสักการะสมเด็จพุฒาจารย์ ให้ขอพรโดยการสวดคาถาชินบัญชร แล้วปักธูปที่กระถาง และปิดทองที่รูปปั้น เสร็จแล้วพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
การเดินทางไปยังวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารสถานที่ตั้ง ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย
การเดินทาง โดยรถประจำทางสาย 19, 57  ทางเรือ โดยเรือด่วนเจ้าพระยา ลงที่ท่าเรือรถไฟหรือท่าวังหลัง หรือข้ามฟากที่ท่าช้าง แล้วขึ้นที่ท่าเรือวัดระฆัง
9. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร คติ เดินทางปลอดภัยดี มีมิตรไมตรีที่ดี
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท สร้างขึ้นเมื่อสมัยราชกาลที่ 3 เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต หรือเรียกตามแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง
การเดินทางไปยังวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
สถานที่ตั้ง แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี
การเดินทาง โดยรถประจำทาง สาย 40, 57, 149, ปอ. 177
ทางเรือ ข้ามเรือข้ามฟากที่ท่าเรือปากคลองตลาด มาท่าเรือวัดกัลยาฯ
*******************************
แหล่งอ้างอิง
http://www.tourinthai.com/siteproduct
th.wikipedia.org/wiki/กรุงเทพมหานคร

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แนวคิดทฤษฎีกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Theory)



 










1.2   แนวคิดทฤษฎีกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Theory) 

ทฤษฎีกลุ่มนี้บางครั้งเรียกว่า กลุ่มปัญญานิยม  มีความเชื่อว่าผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ต้องใช้ประสาทสัมผัส (Sense) และใช้สติปัญญาเป็นตัววิเคราะห์ข้อมูล และเก็บสะสมประสบการณ์เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาใหม่ สำหรับกลุ่มแนวคิดทฤษฎีที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่และการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง ได้แก่ กลุ่มแนวคิดทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism) และกลุ่มแนวคิดทฤษฎีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา  (Constructionism) ได้แก่
        1.2.1 ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructivism)   เป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียนที่เน้นวิธีการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดไตร่ตรองได้อย่างสร้างสรรค์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รู้จักร่วมมือกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ ช่วยพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม และนำความรู้ที่ได้รับไปบูรณาการในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ตามหลักการของทฤษฎีนี้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้จากความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจเดิมที่มีมาก่อน นำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ และปรากฎการณ์ที่พบเห็นมาสร้างเป็นโครงสร้างใหม่ทางสติปัญญา  (Kemil.1991); (Noddings.1990); (Von Glasserfeld.1991); (Henderson.1992) ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาทางปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบร่วมมือโดยใช้วิธีการแก้ปัญหา (Collaborative Constructivism) (สุรางค์ โค้วตระกูล.2544) ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีวิธีคิดในการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ต้องเกิดจากความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาของตนเอง แนวคิดทฤษฎีนี้ มีรากฐานมาจากแนวคิดของนักจิตวิทยาการศึกษาหลายท่าน ได้แก่ แนวคิดของฌอง เฟียเจต์ (Jean Piaget) เรียกว่า Cognitive constructivism ที่เชื่อว่า ถ้าผู้เรียนถูกกระตุ้นด้วยปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาแล้ว  จะทำให้ผู้เรียนพยายามปรับโครงสร้างทางปัญญาให้เข้าสู่สภาวะสมดุลโดยวิธีการดูดซึมได้แก่ การรับข้อมูลใหม่จากสิ่งแวดล้อมเข้าไปไว้ในโครงสร้างทางปัญญา และปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางปัญญา คือ การเชื่อมโยงโครงสร้างทางปัญญาเดิม หรือความรู้เดิมที่มีมาก่อนกับข้อมูลข่าวสารใหม่ จนกระทั่งสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาหรือเกิดการเรียนรู้ได้ ส่วนแนวคิดของวีก็อทสกี้ (Vygotsky) ได้เน้นบริบททางสังคม เรียกว่า Social constructivism เชื่อว่าผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้โดยผ่านทางการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาด้านพุทธิปัญญา สำหรับจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้  Learning by doing  ที่เชื่อว่าผู้เรียนต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับการกระทำ  และผู้เรียนต้องมีการทำความเข้าใจความรู้ใหม่โดยอาศัยประสบการณ์เดิมที่สั่งสมมาเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ อันเป็นความพยายามเชิงสังคม ก่อให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนที่เรียกว่า การเรียนรู้แบบร่วมมือ ที่เน้นความสำคัญของการสร้างความรู้โดยกลุ่มคนในสังคม  สำหรับแนวคิดของบรูเนอร์ (Bruner) เห็นว่าประสบการณ์เดิมของผู้เรียนจะมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ และเชื่อว่าวุฒิภาวะอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาโครงสร้างความรู้ใหม่ ต้องมีองค์ประกอบอื่นเกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาทางด้านภาษา และประสบการณ์เดิมเข้ามามีส่วนสำคัญในการเพิ่มความเจริญงอกงามทางสติปัญญา และแนวคิดของออซูเบล (Ausubel) ที่เชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่ได้กับโครงสร้างความรู้เดิมที่มีอยู่ นำมาจัดเป็นการเรียนรู้อย่างมีความหมาย แต่ถ้าผู้เรียนไม่สามารถนำสิ่งใหม่ไปสัมพันธ์กับความรู้เดิมได้ เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีความหมาย หรือเรียนแบบท่องจำ (สุวิทย์ มูลคำและอรทัย มูลคำ.2545:128 - 129); (รายงานการประชุมทางวิชาการวิจัยทางการศึกษา ครั้งที่ 11.2548 : 161 – 164)